โรคไข้กลับซ้ำที่สัมพันธ์กับ cryopyrin หรือโรค CAPS 


ฉบับแปลของ 2016
diagnosis
treatment
causes
Cryopyrin Associated Periodic Syndromes (CAPS) (CINCA/Muckle Wells/FCAS)
โรคไข้กลับซ้ำที่สัมพันธ์กับ cryopyrin หรือโรค CAPS
โรคไข้กลับซ้ำที่สัมพันธ์กับ cryopyrin (CAPS) ประกอบด้วยกลุ่มโรค autoinflammatory ที่เป็นโรคหายาก ได้แก่ Familial Cold Autoinflammatory Syndrome (FCAS), Muckle-Wells Syndrome (MWS) และ Chronic Infantile Neurologic Cutaneous Articular syndrome (CINCA) หรือที่เรียกกันว่า Neonatal Onset Multi-systemic Inflammatory Disease (NOMID) แรกเริ่มโรคเหล่านี้ไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มโรคเดียวกันถึงแม้ว่าจะมีอาการที่คล้ายคลึงกันก็ตาม ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ผื่นผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายลมพิษ และอาการทางข้อ ซึ่งความรุนแรงของข้ออักเสบสัมพันธ์กับการอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย โรคสามโรคมีความรุนแรงของโรคต่างกันดังนี้ FCAS เป็นโรคที่รุนแรงน้อยที่สุด CINCA (NOMID) รุนแรงมากที่สุด และผู้ป่วยที่เป็น MWS รุนแรงปานกลาง ลักษณะของโรคในระดับโมเลกุลแสดงให้เห็นถึงยีนที่กลายพันธุ์ซึ่งเป็นยีนชนิดเดียวกันทั้งสามโรค 1
evidence-based
consensus opinion
2016
PRINTO PReS
1. โรค CAPS คืออะไร
2. การวินิจฉัยและการรักษา
3. การดำเนินชีวิตประจำวัน



1. โรค CAPS คืออะไร

1.1 โรคนี้เป็นอย่างไร?
โรคไข้กลับซ้ำที่สัมพันธ์กับ cryopyrin (CAPS) ประกอบด้วยกลุ่มโรค autoinflammatory ที่เป็นโรคหายาก ได้แก่ Familial Cold Autoinflammatory Syndrome (FCAS), Muckle-Wells Syndrome (MWS) และ Chronic Infantile Neurologic Cutaneous Articular syndrome (CINCA) หรือที่เรียกกันว่า Neonatal Onset Multi-systemic Inflammatory Disease (NOMID) แรกเริ่มโรคเหล่านี้ไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มโรคเดียวกันถึงแม้ว่าจะมีอาการที่คล้ายคลึงกันก็ตาม ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ผื่นผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายลมพิษ และอาการทางข้อ ซึ่งความรุนแรงของข้ออักเสบสัมพันธ์กับการอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย
โรคสามโรคมีความรุนแรงของโรคต่างกันดังนี้ FCAS เป็นโรคที่รุนแรงน้อยที่สุด CINCA (NOMID) รุนแรงมากที่สุด และผู้ป่วยที่เป็น MWS รุนแรงปานกลาง
ลักษณะของโรคในระดับโมเลกุลแสดงให้เห็นถึงยีนที่กลายพันธุ์ซึ่งเป็นยีนชนิดเดียวกันทั้งสามโรค

1.2 พบบ่อยแค่ไหน?
โรค CAPS เป็นโรคที่หายาก พบผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายจากประชากรล้านคน แต่ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากยังวินิจฉัยโรคนี้ไม่ได้ความชุดของโรคจึงต่ำ โรค CAPS สามารถเกิดได้ในทุกประเทศทั่วโลก

1.3 สาเหตุของโรคคืออะไร?
โรค CAPS เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยีนที่ผิดปกติใน 3 โรค (FCAS, MWS, CINCA/NOMID) ชื่อ CIAS1 (หรือ NLRP3) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโปรตีน cryopyrin โปรตีนชนิดนี้มีบทบาทในการเกิดการอักเสบในร่างกาย หากมีความผิดปกติของยีน โปรตีนนี้จะมีการทำงานเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นในร่างกาย อาการการอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นอาการแสดงในโรค CAPS นั่นเอง
ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรค CINCA/NOMID ไม่พบการกลายพันธุ์ของยีน CIAS1 อย่างไรก็ตามความผิดปกติของยีนมีความสัมพันธ์กับการอาการของโรคเช่นเดียวกัน ได้แก่ พบยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ในขณะที่ไม่พบยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง นอกจากความผิดปกติของยีนแล้วนั้น สภาพแวดล้อมก็อาจจะมีผลกับความรุนแรงและอาการของโรค

1.4 โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่?
โรค CAPS เป็นโรคที่ถ่ายทอดพันธุกรรมแบบยีนเด่น หมายความว่าโรคนี้ถ่ายทอดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคและมีความผิดปกติของยีน CIAS1หนึ่งชุด เนื่องจากในคนปกติจะมียีนอยู่ 2 ชุดในร่างกาย ดังนั้นโอกาสเสี่ยงที่พ่อหรือแม่ที่มียีน CIAS1 กลายพันธุ์จะถ่ายทอดให้ลูกเท่ากับร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามการกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นเองได้ โดยที่พ่อหรือแม่ไม่ได้เป็นโรคและไม่ได้มียีนผิดปกติ ยีน CIAS1นี้สามารถเกิดความผิดปกติขึ้นเองในระหว่างที่มีการปฏิสนธิในครรภ์ ในกรณีนี้โอกาสเสี่ยงที่เด็กจะเป็นโรคนั้นไม่แน่นอน

1.5 โรคนี้เป็นโรคติดต่อหรือไม่?
โรค CAPS ไม่ใช่โรคติดต่อ

1.6 มีอาการหลักเป็นอย่างไร?
มีผื่นขึ้นในทั้งสามโรค มักจะมาด้วยอาการนี้เป็นสิ่งแรก ไม่ว่าจะเป็นโรคไหนก็ตามลักษณะผื่นจะคล้ายกัน คือ เป็นผื่นเม็ดแดงๆเล็กๆนูนเล็กน้อย ย้ายที่ไปมา (ลักษณะคล้ายผื่นลมพิษ) มักจะไม่คัน ผื่นจะเป็นมากหรือน้อยจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายและตามสภาวะของโรคขณะนั้น
โรค FCAS เมื่อก่อนรู้จักกันในชื่อของ familial cold urticaria (ผื่นลมพิษเวลาอากาศหนาว) มาด้วยอาการไข้กลับซ้ำแต่จะเป็นไข้แค่ช่วงสั้นๆ ผื่นขึ้นและปวดข้อ โดยจะเป็นมากเวลาอากาศหนาว นอกจากนี้ยังมีอาการตาขาวอักเสบและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการมักจะเกิดประมาณ 1-2 ชม.หลังจากเจออากาศเย็นหรือเจออากาศทที่เปลี่ยนแปลงไป และระยะเวลาที่โรคกำเริบจะเป็นไม่นาน (น้อยกว่า 24 ชม.) อาการนี้จะหายได้เอง (แปลว่าหายโดยไม่ต้องรักษา) ผู้ป่วยมักจะบอกว่ามีอาการดีช่วงเช้าหลังจากนอนบนเตียงที่อบอุ่น แต่จะมีอาการแย่ลงในช่วงเวลาระหว่างวันที่เจออากาศเย็น ผู้ป่วยมักมีอาการตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือนแรก หากตรวจเลือดก็จะพบว่ามีการอักเสบเกิดขึ้น คุณภาพชิวิตของผู้ป่วยโรคนี้จะแตกต่างกันไปขึ้นกับความถี่และความรุนแรงของอาการ อย่างไรก็ตามมักจะไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง เช่น หูหนวกและ amyloidosis

โรค MWS มาด้วยอาการไข้กลับซ้ำและผื่นขึ้น ร่วมกับการอักเสบของข้อและตา ถึงแม้ว่าผู้ป่วยมักจะไม่มีไข้ขึ้นก็ตาม ส่วนอาการที่พบบ่อยอีกอย่างคือ อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด การดำเนินโรคแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย จากผู้ที่มีอาการเป็นๆหายๆ ถึงเป็นตลอดไม่มีช่วงที่หายเลย เช่นเดียวกับในโรค FCAS ผู้ป่วยโรค MWS มักจะมีอาการแย่ลงในช่วงเย็น อาการมักเป็นในช่วงที่เด็กเล็กแต่ในบางรายก็มาในวัยเด็กโต
อาการหูหนวกเป็นอาการที่พบได้บ่อย (เกิดประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย) และมักเกิดในช่วงเด็กโตหรือช่วงวัยรุ่น ส่วน amyloidosis เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดของโรคนี้ และสามารถเกิดในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่ พบได้ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนนี้เกิดจากการตกตะกอนของ amyloid ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะบางชนิด (เช่น ไต ลำไส้ ผิวหนัง หัวใจ) การตกตะกอนนี้ทำให้อวัยวะนั้นมีการทำงานที่ลดลง โดยเฉพาะไต ซึ่งจะมาด้วยอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ตามมาด้วยการทำงานของไตที่ลดลง ภาวะนี้ไม่ได้พบเฉพาะโรคในกลุ่ม CAPS แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในโรคที่มีการอักเสบเรื้อรัง
การอักเสบในเลือดจะเกิดขึ้นในช่วงที่อาการกำเริบหรือจะพบการอักเสบอยู่ตลอดในรายที่มีอาการรุนแรงเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการอยู่ตลอดเวลา คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแตกต่างกันในแต่ละราย

โรค CINCA (NOMID) เป็นโรคที่มีความรุนแรงมากที่สุดในสามโรคนี้ ผู้ป่วยจะมาด้วยผื่นเป็นอาการแรกและเป็นตั้งแต่เกิดหรือในช่วงทารกตอนต้น หนึ่งในสามของผู้ป่วยอาจจะเกิดก่อนกำหนดหรือตัวเล็กตั้งแต่เกิด ไข้จะเป็นๆหายๆ ไม่รุนแรงหรือในบางรายก็อาจจะไม่มีไข้ ผู้ป่วยมักจะบ่นว่าอ่อนเพลีย
ความรุนแรงของอาการทางข้อและกระดูกจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการแค่ปวดข้อหรือข้อบวมชั่วคราวในช่วงที่โรคกำเริบ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและทำให้ข้อติดและพิการ เนื่องจากกระดูกอ่อนข้างที่มีการอักเสบมีการเจริญ เติบโตอย่างรวดเร็ว การที่กระดูกเติบโตเร็วเช่นนี้ทำให้ข้อดูผิดรูป และยังคงมีอาการปวดและข้อติดตามมา ข้อที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือและข้อศอก ผู้ป่วยมักเป็นทั้งสองข้างเท่าๆกัน การตรวจทางรังสีพบความผิดปกติชัดเจน กระดูกที่จะมีการเจริญเติบโตมากขึ้นซึ่งมักเกิดในช่วงแรกของชีวิตก่อนอายุ 3 ปี
พบความผิดปกติของระบบประสาทในผู้ป่วยเกือบทุกรายและพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดปราศจากชื้อเรื้อรัง (เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบแบบปราศจากเชื้อ) การอักเสบแบบนี้ทำให้เกิดอาการความดันในสมองสูงเรื้อรัง อาการแสดงจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย อาการเหล่านี้ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ บางครั้งมีอาเจียนร่วมด้วย อาการหงุดหงิดง่ายในเด็กเล็ก และมีจานประสาทตาบวม (ซึ่งตรวจได้ด้วยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจ) อาการชักและการเรียนรู้ลดลงเกิดขึ้นได้ในบางครั้งในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
ส่วนอาการทางตา; การอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ที่ส่วนหน้าและส่วนหลังของตา ไม่ว่าจะมีจานประสาทตาบวมหรือไม่ก็ตาม อาการเหล่านี้จะแย่ลงไปเรื่อยๆจนถึงการสูญเสียการมองเห็นในช่วงวัยผู้ใหญ่ (ตาบอด) อาการหูหนวกเป็นอีกอาการที่พบบ่อยและมักจะมีอาการในช่วงเด็กตอนปลายหรือช่วงปลายของชีวิต ส่วนภาวะ amyloidosis จะเกิดขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งพบได้ ร้อยละ 25 ของผู้ป่วย ส่วนการเจริญเติบโตที่ล่าช้าและการเป็นหนุ่มเป็นสาวช้ากว่าวัยอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้จะพบค่าอักเสบในเลือดสูงอยู่เสมอ เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วนในผู้ป่วยที่เป็นโรค CAPS เกือบทุกรายพบว่าอาการของโรคทั้งสามคาบเกี่ยวกันไปมา ผู้ป่วยที่เป็น MWS อาจคิดว่าเด็กมีอาการเข้าได้กับโรค FCAS เช่น แพ้ต่ออากาศเย็น (เช่น อาการกำเริบบ่อยขึ้นเมื่ออยู่ในฤดูหนาว) หรืออาการอาจมาด้วยอาการทางระบบประสาทที่ไม่รุนแรง เช่น อาการปวดศีรษะ หรือจานประสาทตาบวมแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งเป็นอาการที่พบในโรค CINCA (NOMID) อาการทางระบบประสาทจะชัดเจนขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ามีสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยที่เป็นโรค CAPS แบบไม่รุนแรง (เช่น โรค FCAS หรือ MWS แบบไม่รุนแรง) มีอาการรุนแรง เช่น มีการเจริญเติบโตของกระดูกที่มากกว่าปกติหรืออาการทางระบบประสาทที่รุนแรงซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการของโรค CINCA (NOMID) ที่รุนแรง

1.7 โรคนี้เหมือนกันในเด็กทุกคนหรือไม่?
มีความแตกต่างกันอย่างมากในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่เป็นโรค FCAS จะมีอาการรุนแรงน้อยและมีการพยากรณ์โรคที่ดีในระยะยาว ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรค MWS จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสามารถมีอาการหูหนวกและภาวะ amyloidosis ได้ สำหรับโรค CINCA/NOMID จะมีความรุนแรงมากที่สุด ในบรรดากลุ่มต่างๆเหล่านี้ความแตกต่างของอาการต่างๆ จะขึ้นกับความรุนแรงของอาการทางระบบประสาทและทางข้อเป็นหลัก


2. การวินิจฉัยและการรักษา

2.1 วินิจฉัยโรคได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรค CAPS ขึ้นกับอาการและอาการแสดงของโรคก่อนจะยืนยันด้วยผลการตรวจทางพันธุกรรม การวินิจฉัยแยกโรคระหว่าง FCAS และ MWS หรือ MWS และ CINCA/NOMID ค่อนข้างยากเพราะมีอาการและอาการแสดงที่คาบเกี่ยวกัน การตรวจตา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรวจด้วย fundoscopy), การตรวจน้ำไข้สันหลัง (ด้วยการเจาะน้ำในหลังไปตรวจ) และการตรวจทางรังสีมีส่วนช่วยในการแยกโรคเหล่านี้ออกจากกัน

2.2 โรคนี้รักษาได้ให้หายได้หรือไม่?
โรค CAPS เป็นโรคที่รักษาไม่หายเนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีการศึกษาถึงสาเหตุของโรคมากขึ้น จึงมีการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ เพื่อจะรักษาและควบคุมอาการโรค CAPS ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาถึงผลข้างเคียงระยะยาวจากยา

2.3 การรักษาประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
การศึกษาวิจัยในปัจจุบันทางพันธุกรรมและพยาธิวิทยาของโรค CAPS พบว่ามีโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอิทธิพลกับการอักเสบมาก คือ IL-1 ถูกสร้างเพิ่มขึ้นมากในภาวะนี้และพบว่าโปรตีนชนิดนี้มีบทบาทมากในช่วงระยะแรกของโรค ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้าน IL-1 (ยับยั้ง IL-1) ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ยาชนิดแรกในกลุ่มนี้ที่ใช้รักษาโรคนี้คือ อะนาคินรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิผลที่ดีในการควบคุมการอักเสบ ผื่น ไข้ อาการปวดและอ่อนเพลียซึ่งเป็นอาการของโรค CAPS นอกจากนี้การรักษานี้ยังได้ผลดีในการรักษาอาการทางระบบประสาทอีกด้วย ในบางภาวะอาจจะช่วยทำให้อาการหูหนวกดีขึ้นและช่วยควบคุมภาวะ amyloidosis ได้ด้วย แต่ยาชนิดนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องกระดูกที่เจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ อย่างไรก็ตามขนาดของยาที่ใช้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละรายและควรจะให้การรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะเกิดการอักเสบเรื้อรังและทำให้เกิดการทำลายของอวัยวะต่างๆ ที่ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ เช่น หูหนวกหรือภาวะ amyloidosis การบริหารยาต้องฉีดชั้นใต้ผิวหนังทุกวัน สามารถพบอาการบวมแดงได้ในบริเวณที่ฉีด และจะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ริโลนาเซป เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้าน IL-1 ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยองค์กรอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration in USA หรือ FDA) สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 11 ปี ขึ้นไปที่เป็นโรค FCAS หรือ MWS การบริหารยาชนิดนี้ คือใช้วีธีฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง ส่วน คานาคินูแมบ เป็นยาอีกชนิดที่มีฤทธิ์ต้าน IL-1 ล่าสุดเพิ่งได้รับการอนุมัติจากองค์กรอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) และประเทศแถบยุโรป (European Medicines Agency หรือ EMA) ให้ใช้รักษาโรค CAPS ได้ในผู้ป่วยที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป ในผู้ป่วย MWS ยาชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลที่ดีใน การควบคุมการอักเสบ โดยใช้วิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิว หนังทุก 4 ถึง 8 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นโรค ทางพันธุกรรมการรักษาด้วยยาต้านฤทธิ์ IL-1 ต้องใช้เวลานาน ถึงแม้จะไม่ได้ให้ยาชนิดนี้ตลอดชีวิตก็ตาม

2.4 โรคนี้เป็นนานแค่ไหน?
โรค CAPS เป็นโรคที่เป็นตลอดชีวิต

2.5 มีการพยากรณ์โรคระยะยาวเป็นอย่างไร?
การพยากรณ์ระยะยาวของโรค FCAS ค่อนข้างดีแต่จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเวลาอาการไข้กำเริบ ส่วนในโรค MWS การพยากรณ์โรคระยะยาวขึ้นกับภาวะ amyloidosis และการทำงานของไตที่ลดลงและหูหนวกเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยเช่นกัน ในผู้ป่วยโรค CINCA จะมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติในช่วงที่มีการดำเนินของโรค การพยากรณ์โรคระยะยาวขึ้นกับอาการทางระบบประสาทและทางข้อว่ารุนแรงหรือไม่ เนื่องจากการเจริญเติบโตของกระดูกที่มากกว่าปกติทำให้เกิดภาวะทุพลภาพ ในผู้ป่วยบางรายอาจตายตั้งแต่แรกเกิดหากมีอาการรุนแรง การรักษาด้วยยาต้าน IL-1 ช่วยบรรเทาอาการของโรคในกลุ่ม CAPS และให้การพยากรณ์โรคที่ดีขึ้น


3. การดำเนินชีวิตประจำวัน

3.1 โรคมีผลกระทบกับผู้ป่วยและครอบครัวในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร?
คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมักจะได้รับผลกระทบจากการมีไข้กลับซ้ำ เนื่องจากกว่าจะได้รับการวินิจฉัยใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้ผู้ปกครองเกิดความกังวล รวมถึงอาจมีการทำหัตถการที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ป่วยได้

3.2 สามารถไปเรียนได้หรือไม่?
ควรให้การสนับสนุนทางการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบางประการที่อาจเกิดปัญหากับเด็กที่โรงเรียน ดังนั้นควรจะอธิบายถึงการดูแลผู้ป่วยให้ครูได้ทราบ รวมถึงให้ผู้ปกครองและครูเข้าใจว่าสามารถให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆและครู ในอนาคตควรให้มีการรวมตัวกันในทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่อไป

3.3 สามารถเล่นกีฬาได้หรือไม่?
การเล่นกีฬามีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กทุกๆคน เป้าหมายหนึ่งของการรักษาคือเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตประจำวันได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ดังนั้นผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆได้แต่อาจจะจำกัดหากอยู่ในภาวะที่โรคกำเริบ

3.4 สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติหรือไม่?
ไม่มีอาหารที่ห้ามรับประทานในผู้ป่วยโรคนี้ โดยทั่วไปผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการในวัยนั้นๆ และแนะนำให้รับประทานอาหารที่ดีและสมดุลซึ่งประกอบไปด้วยโปรตีน แคลเซี่ยมและวิตามินโดยเฉพาะในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต

3.5 สภาวะอากาศมีผลกับการดำเนินของโรคหรือไม่?
อากาศเย็นอาจมีผลในการกำเริบของโรค

3.6 สามารถได้รับวัคซีนได้หรือไม่?
สามารถรับวัคซีนได้และแนะนำให้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามควรแจ้งกับแพทย์ผู้ดูแลก่อนได้รับวัคซีนเชื้อเป็นเกี่ยวกับโรคของผู้ป่วย หากได้รับการรักษาอยู่คำแนะนำเรื่องการให้วัคซีนอาจต้องดูเป็นรายๆไป

3.7 สามารถมีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ หรือคุมกำเนิดได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการศึกษาที่ผ่านมา แต่โดยทั่วไปเหมือนโรคในกลุ่ม autoinflammatory อื่นๆ คือควรมีการวางแผนการตั้งครรภ์ก่อนเพื่อจะได้ปรับยาให้เหมาะสม เนื่องจากยาในกลุ่มสารชีวภาพอาจมีผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์


 
สนับสนุนโดย
This website uses cookies. By continuing to browse the website you are agreeing to our use of cookies. Learn more   Accept cookies