โรคข้ออักเสบ LYME  


ฉบับแปลของ 2016
diagnosis
treatment
causes
Lyme Arthritis
โรคข้ออักเสบ LYME
โรคข้ออักเสบ Lyme เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Borrelia burgdorferi (Lyme borreliosis) ที่แพร่โดยตัวเห็บ (Ixodes ricinus tick) ทำให้เกิดข้ออักเสบภายหลังการติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาจมีอาการทางผิวหนัง ทางระบบประสาท หัวใจ ตาและอวัยวะอื่นๆ แต่อาการข้ออักเสบกลับเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อย่างไรก็ตามมักมีประวัติอาการผื่นแดงกระจายเป็นวงกว้างถัดจากบริเวณที่ถูกกัดที่เรียกว่า erythema migrans ในผู้ป่วยบางราย หากไม่ได้รับการรักษาข้ออักเสบ Lyme อาจนำไปสู่อาการทางระบบประสาทตามมา 1
evidence-based
consensus opinion
2016
PRINTO PReS
1. โรคข้ออักเสบ Lyme
2. การวินิจฉัยและการรักษา
3. ผลรบกวนต่อกิจวัตรประจำวัน



1. โรคข้ออักเสบ Lyme

1.1 โรคข้ออักเสบ Lyme คืออะไร?
โรคข้ออักเสบ Lyme เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Borrelia burgdorferi (Lyme borreliosis) ที่แพร่โดยตัวเห็บ (Ixodes ricinus tick) ทำให้เกิดข้ออักเสบภายหลังการติดเชื้อ
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาจมีอาการทางผิวหนัง ทางระบบประสาท หัวใจ ตาและอวัยวะอื่นๆ แต่อาการข้ออักเสบกลับเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อย่างไรก็ตามมักมีประวัติอาการผื่นแดงกระจายเป็นวงกว้างถัดจากบริเวณที่ถูกกัดที่เรียกว่า erythema migrans
ในผู้ป่วยบางราย หากไม่ได้รับการรักษาข้ออักเสบ Lyme อาจนำไปสู่อาการทางระบบประสาทตามมา

1.2 โรคนี้เกิดบ่อยแค่ไหน?
โรคนี้พบได้ในเด็กส่วนน้อยที่มาด้วยอาการข้ออักเสบ อย่างไรก็ตามข้ออักเสบ Lyme พบบ่อยในประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะในเด็กและเด็กวัยรุ่นที่มีอาการข้ออักเสบภายหลังติดเชื้อแบคทีเรีย โรคนี้มักพบในเด็กวัยเรียนอายุตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป
ส่วนใหญ่จะพบในเด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในยุโรปตอนกลางและทางใต้ของแสกนดิเนเวีย ใกล้กับทะเลบอลติก ผู้ป่วยมักจะถูกไรกัดในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม (ขึ้นกับอุณหภูมิและความชื้น) อย่างไรก็ตามการเกิดข้ออักเสบชนิดนี้จะเกิดช่วงเวลาใดก็ได้เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่เห็บกัดจนเกิดอาการมีระยะเวลานานและไม่แน่นอน

1.3 สาเหตุของการเกิดโรค?
โรคข้ออักเสบชนิดนี้เกิดจากเชื้อแบคที่เรียชื่อ Borrelia Burgdorferi ซึ่งเข้าทางรอยบาดแผลที่ถูกเห็บ Ixodes ricinus กัด เห็บส่วนใหญ่ไม่มีเชื้อนี้อยู่ ดังนั้นแผลที่ถูกเห็บกัดส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ และหากมีการติดเชื้อ การติดเชื้อ Lyme ส่วนใหญ่จะมีอาการแค่ผื่น erythema migrans เท่านั้น ไม่ค่อยมีอาการระบบอื่นๆ ตามมา รวมถึงอาการข้ออักเสบด้วย
ในแต่ละปีจะมีเด็กราว 1/1000 ที่มีโอกาสเกิดการติดเชื้อชนิดนี้และมีผื่นเฉพาะที่เรียกว่า erythema migrans ซึ่งมักเป็นระยะแรกของโรค ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรก ดั้งนั้นการเกิดโรคข้ออักเสบซึ่งมักเกิดในระยะหลังของโรคจึงพบได้น้อย

1.4 มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่?
โรคนี้เกิดจากการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะพบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่างร่วมด้วย โดยที่ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด

1.5 เพราะเหตุใดบุตรจึงเป็นโรค? และจะมีแนวทางป้องกันโรคหรือไม่?
ในประเทศแถบยุโรปซึ่งมีเห็บชนิดนี้จำนวนมาก ดังนั้นจึงยากที่จะป้องกันเด็กจากการถูกเห็บกัด อย่างไรก็ตามเชื้อ Borrelia burgdorferi ไม่ได้ถ่ายทอดทันทีที่เห็บกัดคน ใช้เวลาถ่ายทอดหลายชม.จนถีงหนึ่งวันกว่าที่แบคทีเรียจะเข้าสู่ต่อมน้ำลายเห็บ เพื่อที่เชื้อจะออกไปกับน้ำลายเห็บเข้าสู่คน เห็บมักจะเกาะกับคนประมาณ 3-5 วันเพื่อดูดเลือด ดังนั้นควรตรวจเด็กทุกเย็นในช่วงหน้าร้อนว่ามีเห็บเกาะอยู่หรือไม่ และหากเอาเห็บออกทันที เชื้อ Borrelia burgdorferi ก็จะไม่มีโอกาสถ่ายทอดมา ยังคนได้ทัน ไม่แนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลัง จากโดนเห็บกัด
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดผื่น erythema migrans ซึ่งเป็นอาการในระยะแรกของโรคแล้วควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การรักษาจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและป้องกันการเกิดข้ออักเสบ Lyme ในสหรัฐอเมริกาเคยมีการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อชนิดนี้มาก่อน แต่ถูกถอนออกจากตลาดเนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ วัคซีนชนิดนี้ไม่ควรใช้ในยุโรปเนื่องจากเชื้อโรคเป็นคนละสายพันธุ์กัน

1.6 โรคนี้ติดต่อกันทางการสัมผัสกันได้หรือไม่?
ถึงแม้ว่าเป็นโรคติดเชื้อ แต่โรคนี้ถ่ายทอดโดยผ่านรอยแผลที่ถูกเห็บบกัด โรคนี้ไม่ได้ติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง ดังนั้นไม่สามารถติดต่อผ่านทางคน

1.7 อาการสำคัญมีอะไรบ้าง?
อาการที่พบบ่อยได้แก่อาการข้ออักเสบ (อาการข้อบวมร่วมกับมีน้ำในข้อ และเคลื่อนไหวข้อลำบาก) ข้อที่บวมมากมักจะมีอาการปวดน้อยหรือไม่ปวดเลย โดยข้อที่เป็นบ่อยที่สุดคือข้อเข่า ถึงแม้ว่าข้อใหญ่อื่นๆหรือแม้แต่ข้อเล็กอื่นๆก็สามารถอักเสบได้เช่นเดียวกัน 2/3 ของผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเพียงข้อเดียวคือข้อเข่าอักเสบ มากกว่าร้อยละ 95 ของผู้ป่วยมาด้วยข้ออักเสบตั้งแต่ 1-4 ข้อ คนไข้ส่วนใหญ่ประมาณ 2/3 จะมีอาการข้ออักเสบเป็นๆหายๆ ทุก 2-3 วัน ถึง 2-3 สัปดาห์
การดำเนินโรคยิ่งนานการอักเสบก็จะลดลง แต่ในบางรายที่มีการอักเสบเพิ่มขึ้นและกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง มีบางรายเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3 เดือน

1.8 ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการเหมือนกันหรือไม่?
ไม่เหมือนกัน โรคนี้เป็นโรคที่เกิดฉับพลัน (เช่น เป็นแค่ครั้งเดียว) หรือเป็นๆหายๆ หรือเป็นเรื้อรัง ข้ออักเสบมักเป็นฉับพลันในเด็กที่มีอายุน้อยและเรื้อรังในเด็กวัยรุ่น

1.9 โรคนี้มีความแตกต่างกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่หรือไม่?
ผู้ป่วยโรคนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมีอาการใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามเด็กจะพบข้ออักเสบมากกว่าในผู้ใหญ่ ในทางตรงข้ามเด็กที่มีอายุน้อยจะมีการดำเนินโรคที่เร็วและสั้นกว่า และมีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะดีกว่า


2. การวินิจฉัยและการรักษา

2.1 แนวทางการวินิจฉัยเป็นอย่างไร?
เมื่อไรก็ตามที่เด็กมาด้วยอาการข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ ข้ออักเสบ Lyme ควรจะเป็นหนึ่งในการวินิจฉัยแยกโรค หากสงสัยโรคนี้จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดหรือน้ำในข้อ (ข้อที่บวมและอักเสบ)
การตรวจเลือดด้วยวิธี Enzyme Immuno Assay เพื่อหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ Borrelia bergdorferi ร่วมกับกับการตรวจ IgM แอนติบอดีต่อเชื้อ Borrelia burgdorferi ด้วยวิธี immunoblot หรือ Western blot จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค
หากผู้ป่วยมาด้วยอาการข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุและตรวจพบ IgM แอนติบอดีต่อเชื้อ Borrelia burgdorferi โดยใช้วิธี Enzyme Immuno Assay และยืนยันโดย Western blot จึงสามารถวินิจฉัยข้ออักเสบ Lyme ได้ นอกจากนี้ยังสามารถยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจน้ำในข้อเพื่อหายีนของ Borrelia burgdorferi โดยใช้วิธีตรวจ polymerase chain reaction อย่างไรก็ตามการตรวจวิธีนี้เชื่อถือได้น้อยกว่าการตรวจแอนติบอดี เนื่องจากวิธีนี้อาจตรวจไม่พบเชื้อทั้งๆที่มีเชื้อหรืออาจตรวจว่ามีเชื้อทั้งๆที่ไม่มีเชื้อก็เป็นได้ การวินิจฉัยข้ออักเสบ Lyme ควรได้รับการวินิจฉัยโดยกุมารแพทย์ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ กุมารแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มควรมีบทบาทในการรักษาต่อไป

2.2 การตรวจทางห้องปฏิบัติการสำคัญอย่างไร?
นอกเหนือจากการตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยดังที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น การตรวจเลือดเพื่อดูค่าการอักเสบก็มีความจำเป็น นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องตรวจหาเชื้ออื่นๆร่วมด้วยในกรณีที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นจากเชื้ออื่นได้หรือไม่
หากตรวจพบว่าเป็นข้ออักเสบ Lyme แล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำเพื่อจะดูว่าหายขาดแล้วหรือไม่ เนื่องจากค่าที่ผิดปกตินี้จะคงอยู่ในเลือดได้นานหลายปี ไม่ได้เป็นตัวบอกการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด

2.3 โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ร้อยละ 80 สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะเพียงหนึ่งหรือสองคอร์ส แต่จะมีผู้ป่วยราวร้อยละ 10-20 ที่ยาปฏิชีวนะไม่สามารถทำให้โรคหายได้และต้องใช้ยาต้านการอักเสบชนิดอื่นช่วย

2.4 การรักษามีอะไรบ้าง?
ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์หรือยาปฏิชีวนะชนิดฉีดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากไม่สามารถใช้ยา amoxicillin หรือ doxycycline (เฉพาะในเด็กที่อายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป) ได้สม่ำเสมอ การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดซึ่งได้แก่ ceftriaxone (หรือ cefotaxime) อาจได้ผลที่ดีกว่า

2.5 ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง?
ยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น ท้องเสีย หรือในบางรายอาจเกิดการแพ้ยา ซี่งอาการดังกล่าวมักไม่รุนแรงและพบได้ไม่บ่อยนัก

2.6 ระยะเวลาของการรักษานานเท่าไร?
ภายหลังการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ ค่อยพิจารณาว่าผู้ป่วยที่มีอาการของข้ออักเสบหายจากโรคหรือไม่
หากข้ออักเสบไม่ดีขึ้นควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่ง และหากยังมีข้ออักเสบ 6 สัปดาห์ภายหลังจากได้รับยาปฏิชีวนะครั้งที่ 2 ครบแล้ว ควรให้ยาต้านการอักเสบอื่นร่วมด้วย โดยทั่วไปมักใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดฉีดเข้าข้อโดยมักจะฉีดเข้าข้อเข่าซึ่งพบบ่อยที่สุดในโรคนี้

2.7 ควรติดตามการรักษาบ่อยแค่ไหน?
ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจข้อเพื่อประเมินข้ออักเสบเป็นระยะๆ หากไม่มีข้ออักเสบเกิดซ้ำเป็นระยะเวลานานๆ จะมีโอกาสหายขาดมากขึ้น

2.8 ระยะเวลาการเป็นโรค?
โรคนี้มักเป็นไม่นาน ร้อยละ 80 จะหายขาดหลังจากรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหนึ่งหรือสองชนิดจนครบ มีเพียงกลุ่มน้อยที่ยังเป็นข้ออักเสบเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปี

2.9 การดำเนินโรคระยะยาวเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคนี้มัก จะหายขาดหลังจากรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจนครบ มีเพียงส่วนน้อยที่ยังเป็นข้ออักเสบเรื้อรังจนกระทั่งข้อถูกทำลาย ข้อเสื่อมหรือข้อพิการ

2.10 โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 95 ที่หายขาดภายหลังการรักษา


3. ผลรบกวนต่อกิจวัตรประจำวัน

3.1 ผลกระทบต่อผู้ป่วยและผู้ปกครอง?
ผู้ป่วยอาจมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย ยกตัวอย่างเช่น ไม่สามารถวิ่งได้เร็วเหมือนเดิม เนื่องจากมีอาการเจ็บข้อและข้อติด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรงและปัญหาส่วนมากเล็กน้อยและเป็นแค่ชั่วคราว

3.2 สามารถไปโรงเรียนได้หรือไม่?
ในช่วงที่ข้ออักเสบ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องหยุดการเล่นกีฬาชั่วคราว ผู้ป่วยสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่ากิจกรรมใดที่สามารถเข้าร่วมได้

3.3 ควรงดออกกำลังกายหรือไม่?
ผู้ป่วยควรมีส่วนในการตัดสินใจว่ากิจกรรมใดสามารถเข้าร่วมได้ หากผู้ป่วยเคยเล่นกีฬาอยู่เป็นประจำ อาจจะดีกว่าถ้าลดกิจกรรมลงหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมตามความต้องการของผู้ป่วย

3.4 มีอาหารที่ควรงดหรือไม่?
ไม่มีข้อห้ามในการรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ เด็กควรได้รับโปรตีน แคลเซียมและวิตามินอย่างเพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโต

3.5 อุณหภูมิมีผลต่อโรคหรือไม่?
ถึงแม้ว่าเห็บจะชอบอากาศอุ่นและชื้น แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อที่ข้อแล้ว อุณหภูมิหรือฤดูกาลไม่มีผลต่อตัวโรค

3.6 สามารถได้รับวัคซีนได้หรือไม่?
ไม่มีข้อห้ามในการรับวัคซีนใดๆ โรคหรือยาปฏิชีวนะที่ผู้ป่วยได้รับไม่มีผลกับประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรค และไม่มีผลข้างเคียงเพิ่มเติมที่เกิดจากการเป็นโรคหรือยาที่ได้รับ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค Lyme borreliosis

3.7 สามารถมีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์หรือมีบุตรได้หรือไม่?
ไม่มีข้อห้ามในการมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ หรือการมีบุตร


 
สนับสนุนโดย
This website uses cookies. By continuing to browse the website you are agreeing to our use of cookies. Learn more   Accept cookies